เรื่องพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ผมค่อนข้างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะผมมีความเชื่อว่าการเล่นดนตรีหรือการตีกลอง คือการทำซ้ำจนเกิดเป็นพฤติกรรม จึงทำให้เรามีความสามารถพัฒนาขึ้น ทำให้การซ้อมกลองของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นและพฤติกรรมนี้จะคงอยู่กับเราอีกด้วย เมื่อวันก่อนผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของพฤติกรรมชื่อหนังสือ Tiny Habits จริงๆแล้วผมก็ยังอ่านได้ไม่จบแต่ผมก็รู้สึกว่ามีเนื้อหาบางตอนที่สามารถนำมาใช้กับการซ้อมกลองได้ผมจึงตื่นเต้นและอยากนำมาแบ่งปันให้กับทุกท่านได้อ่านครับ ก่อนอื่นผมขอแนะนำเรื่องโมเดลพฤติกรรมของฟ็อกก์ก่อนครับ จากภาพที่เห็นเราลองดูเส้นความสามารถกับแรงจูงใจกันก่อนครับ เส้นความสามารถคือเส้นแนวนอน ความหมายคือเวลาที่เราออกแบบพฤติกรรม ให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่เราสามารถทำซ้ำๆและทำได้นาน ถ้าเราออกแบบพฤติกรรมใดๆที่ง่ายเกินไปก็จะเกิดความเบื่อหน่าย หรือถ้ายากเกินไปและถ้าแรงจูงใจเราไม่มากพอก็จะทำให้เราเกิดความท้อแท้ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องออกแบบพฤติกรรมการซ้อมกลองให้สามารถทำได้โดยไม่ง่ายและไม่ยากจนเกินไป หลายท่านอาจเกิดคำถามที่ว่าถ้าออกแบบพฤติกรรมการซ้อมกลองที่เหมาะสมแล้ว แต่ถ้าอยากจะเก่งกว่านี้ต้องทำอย่างไร แน่นอนครับสำหรับใครที่อยากเก่งขึ้นกว่านี้เราสามารถขยับจุดหมายของเราขึ้นไปได้จากจุดหมายเดิม การทำแบบนี้ทำให้เราสามารถเอาชนะเป้าหมายของเราได้เป็น Step และทำให้เราได้รางวัลในทุกเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ ทำให้เราสามารถทำสิ่งๆนั้นได้เก่งขึ้น และสามารถทำแบบนั้นได้นานด้วยครับ เส้นต่อมาคือเส้น แรงจูงใจ สำหรับเส้นนี้คือเส้นที่เกี่ยวกับความต้องการซ้อมกลองในแต่ละครั้งนั้นสำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าเรามีแรงจูงใจสูงมากๆก็จะทำให้เรามีโอกาสทำสิ่งๆนั้นสำเร็จ แต่ถ้าแรงจูงใจต่ำก็จะทำให้เราอาจจะถอดใจได้ เส้นสุดท้ายคือเส้นการกระทำ สำหรับเส้นนี้คือเส้นที่ทำให้เกิดการกระทำ ถ้าพฤติกรรมนั้นๆอยู่เหนือเส้นการกระทำขึ้นไป ก็จะทำให้เราเกิดความสมดุลในการออกแบบพฤติกรรมการซ้อมกลองและทำให้พฤติกรรมนั้นมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นถ้าการออกแบบพฤติกรรมการซ้อมกลองของเราดีก็จะทำให้เราสามารถซ้อมกลองได้อย่างสม่ำเสมอและพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ หลายท่านอาจจะเจอปัญหาเรื่องการถอดใจเวลาที่เจออะไรยากๆ หรืออาจจะเจอปัญหาไม่มีแรงจูงใจที่จะซ้อมกลอง รู้สึกว่าไม่มีอารมณ์ในการซ้อมกลอง เราอาจจะต้องกลับมาดูเส้นความสามารถของเราว่ามีความสมดุลสำหรับความยากและความง่ายหรือไม่ ถ้าเราวางเรื่องที่ต้องซ้อมเอาไว้ยากเกิด แน่นอนว่าแค่เราคิดถึงเรื่องที่เราจะต้องซ้อมกลองเราก็ไม่อยากลุกจากเตียงแล้ว หรือถ้าง่ายเกิดไปก็อาจจะคิดว่าเดี๋ยวก็ทำได้เอาไว้ก่อนก็ได้ หรือเราอาจจะต้องมาคิดวิเคราะห์อีกทีว่าจริงๆแล้วเรื่องที่เราอยากซ้อมกลองนั้น เราอยากจะทำให้ได้จริงๆหรือเปล่า เรามีแรงจูงใจใดที่อยากจะทำสิ่งนั้นให้ได้ เมื่อรู้วิธีการออกแบบพฤติกรรมในการซ้อมกลองแล้วก็อย่าลืมเอาไปปรับใช้กับมือกลองทุกๆท่านนะครับ หรือถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่เคยประสบความสำเร็จในการตีกลองเลย ก็ลองทบทวนตัวเองโดยเอาความรู้เรื่องการออกแบบพฤติกรรมการซ้อมกลองที่ผมเขียนไปวิเคราะห์ตัวเองดูนะครับ เผื่อจะได้บทสรุปที่เหมาะกับการซ้อมกลองของแต่ละท่านกันครับ ขอบพระคุณทุกท่านที่อ่านบทความครับ โรงเรียนสอนตีกลอง Ongartdrums School Call : 086-066-5005 Line : earthbandbkk Facebook : www.facebook.com/ongartdrums Website : www.ongartdrums.com
1 Comment
|