การตีกลองกับเมโทรนอม (Metronome) หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่าเมโทรนอมมาบ้างแล้ว บางท่านอาจจะจะเคยฝึกกับเมโทรนอมมาด้วย แต่สำหรับหลายท่านที่กำลังหาความรู้หรือกำลังศึกษาเรื่องการตีกลองอยู่ วันนี้ผมจะมาแนะนำว่าเมโทรนอมคืออะไร แล้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับการตีกลอง แล้วทำไมมือกลองถึงขาดเมโทรนอมไม่ได้ วันนี้ผมจะมาแนะนำให้ทุกท่านในบทความนี้ครับ เมโทรนอมคืออะไร เมโทรนอมคือ เครื่องกำกับจังหวะความช้า ความเร็วในการเล่นเครื่องดนตรี กล่าวคือ การเล่นดนตรีประกอบด้วยหลายอย่างด้วยกันเช่น ระดับเสียง (Pitch) จังหวะ (Rhythm) เสียงประสาน (Harmony) และเรื่องของเวลา (Time) ดังนั้นเมโทรนอมจึงเป็นตัวกำหนดเรื่องเวลาในดนตรีซึ่งเดี๋ยวผมจะอธิบายต่อไปว่าดนตรีเกี่ยวข้องกับเรื่องเวลาอย่างไร เมโทรนอมจึงมีความสำคัญมากตั้งแต่การเริ่มเล่นจนไปถึงเล่นในระดับมืออาชีพ เมโทรนอมยังเป็นตัวช่วยในการฝึกซ้อมเวลาที่เราต้องเล่นอัตราจังหวะ (Time Signatue) ต่างๆ หรือการฝึกเล่นค่าโน้ต (Value of Note) ต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ยิ่งถ้าเราเป็นผู้เล่นกลอง หรือมือกลองด้วยแล้ว หน้าที่เราคือการควบคุมจังหวะของวงการเล่นกับเมโทรนอมจึงสำหรับมือกลองจึงมีความสำคัญมากๆ เมโทรนอมหน้าตาเป็นอย่างไร ในสมัยก่อนเมโทรนอมจะรู้จักกันดีในรูปร่างของอนาล็อครูปร่างเป็นกล่องสามเหลี่ยมแล้วมีก้านตรงกลางที่เคลื่อนที่ซ้ายขวาลักษณะคล้ายๆที่ปัดน้ำฝนของรถยนต์ และจะมีเสียง ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก หรือต็อก ต็อก ต็อก ต็อก ไปเรื่อยๆ ตามที่เราตั้งไว้ ซึ่งพอมาถึงในยุคนี้ก็มีเมโทรนอมที่เป็นแบบดิจิตอลเกิดขึ้นมาเป็นเครื่องเมโทรนอมโดยเฉพาะ มีฟังก์ชั่นการใช้งานเพิ่มขึ้นสามารถตั้งเสียงให้เป็นค่าโน้ตต่างๆ ได้ตั้งแต่ โน้ตตัวดำ (Quarter Note) โน้ตเขบ็ต 1 ชั่น (Eighth Note) โน้ตเขบ็ตสองชั้น (Sixteenth Note) และอื่นๆ แต่มาถึงปัจจุบันนี้ง่ายขึ้นมากๆด้วยการมีแอพพิเคชั่นเมโทรนอมสำหรับมือถือ และไอแพดทำให้เราสามารถดาวโหลดมาใช้ได้ฟรีๆ ซึ่งมือกลองทุกท่านควรมีอย่างยิ่ง รูปเมโทรนอมแบบต่างๆ ทำไมเราต้องใช้เมโทรนอม
เมโทรนอมเป็นเสมือนเพื่อนแท้ของมือกลองทุกท่าน ทำไมผมถึงพูดเช่นนี้ เพราะการตีกลองหรือเครื่องดนตรีอื่นๆ อย่างที่ผมได้บอกไปตอนแรกว่ามีเรื่องของเวลา (Time) เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดความช้าเร็วของเพลง เพราะเพลงแต่ละเพลงจะมีความช้า-เร็วต่างกัน เพื่อให้อารมณ์และเทคนิคในการเล่นที่แตกต่างกันจึงต้องมีการกำหนดความเร็วในแต่ละเพลง เราจะเรียกว่าอัตราความเร็วหรือเตมโป (Tempo) ซึ่งจะมีหน่วยความเร็วที่เรียกกันว่า B.P.M. ย่อมาจาก Beat per Minute เช่น 60 B.P.M. หมายถึง อัตราความเร็ว 60 จังหวะต่อนาที แต่เรียกสั้นๆว่า 60 B.P.M. ก็พอครับ ซึ่งตัวเลขนี้แหละจะเป็นตัวกำหนดความเร็วแล้วเราก็มาตั้งค่าในเมโทรนอมทำให้เกิดเสียงของความเร็ว 60 B.P.M. แล้วเราก็ซ้อมตามเสียงของเมโทรนอมในความเร็วนี้ ซึ่งวิธีการซ้อมกับเมโทรนอมผมได้ทำคลิปเอาไว้ใน Playlist Youtube ของผมไว้แล้วครับสามารถเข้าไปรับชมกันได้เลยครับ https://www.youtube.com/playlist?list=PL6yalqmaJPoQAschELlrqc1iLOkWpDBbc ข้อดีของการฝึกซ้อมเมโทรนอม หลายคนที่เพิ่งเริ่มฝึกเมื่อได้ยินเสียงเมโทรนอมก็ต่างอยากจะวิ่งหนีหรือปิดเสียง เพราะลำพังแค่ฝึกแบบฝึกหัดต่างๆ ก็ยากอยู่แล้วแล้วยังต้องมาฝึกโดยมีเสียงเมโทรนอมมาควบคุมอีก หัวจะระเบิดออกมาแล้ว! แต่หัวอย่าเพิ่งระเบิดครับ ลองมาดูว่ามันมีข้อดีอย่างไรบ้างถ้าเราทำได้ การตีกลองกับเมโทรนอมตอนฝึกซ้อม ถ้ามือกลองคนไหนซ้อมกลองแล้วใช้เมโทรนอมจะเป็นคนที่มีจังหวะในการตีกลองที่ดี ดีในที่นี้หมายถึง ไม่เร่งจังหวะ ไม่ยืดจังหวะ ตีกลองแล้วรู้สึกเข้มแข็ง ใครๆก็อยากเล่นด้วย เพราะเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆก็ต้องฝึกกับเมโทรนอมเหมือนกัน ผู้เล่นเครื่องอืนๆก็อยากเล่นกับมือกลองที่จังหวะดีๆเหมือนกัน อีกทั้งเวลาเราต้องเล่นกับวงจริงๆ ในบางครั้งเราไม่สามารถฟังเมโทรนอมได้ แต่ถ้ามือกลองคนไหนฝึกเมโทรนอมจนชำนาญแล้ว เวลาตีกลองแบบไม่มีเมโทรนอม หรือเวลาขึ้นเวทีแล้วตื่นเต้น อย่างน้อยความรู้สึกเราก็จะยังนิ่งจังหวะก็จะนิ่งถ้าเราซ้อมกับเมโทรนอมมาอย่างดี การตีกลองกับเมโทรนอมในเพลง Backing track เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะมือกลองทุกคนก็ต้องมีเวลาที่จะต้องซ้อมคนเดียวแล้วก็อยากเล่นกับเพลงที่เราชอบ แต่เพลงที่เป็น Backing Track ส่วนใหญ่จะมีแค่เสียงเครื่องดนตรีอื่นๆ มาให้ยกเว้นเสียงกลอง (เพราะเราต้องตีกลองเข้าไปในเพลง) และก็จะมีแค่เสียงเมโทรนอมมาให้เพื่อให้เรารู้ว่าจังหวะที่แท้จริงอยู่ตรงไหน หน้าที่ของเราคือเราต้องตีกับเมโทรนอมและเสียงเครื่องดนตรีอื่นๆให้เข้ากัน ซึ่งถ้าเราซ้อมกับเมโทรนอมมาโดยตลอด เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากมาก แต่ถ้าใครไม่เคยซ้อมกับเมโทรนอมเลยแล้วมาเจอสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องบอกได้เลยครับว่ามีหัวร้อนกันบ้าง การตีกลองกับเมโทรนอมเวลาอัดเสียง สำหรับมือกลองบางท่านเมื่อตีเก่งถึงระดับหนึ่งแล้วก็อาจจะต้องมีการเข้าห้องอัดเสียงกันบ้าง สิ่งสำคัญสำหรับการอัดเสียงเลยก็คือการตีกลองกับเมโทรนอม ซึ่งบางเพลงเราอาจจะมีเพลงมาด้วยหรือที่เรียกว่า เพลงไกด์ แล้วเราก็ตีตามเพลง แต่บางเพลงเราอาจจะมีแค่เมโทรนอมอย่างเดียวแล้วโปรดิวเซอร์จะบอกฟอร์มเพลง อารมณ์ และจังหวะที่ต้องเล่น ที่เหลือคือหน้าที่ของมือกลอง แต่เวลาอัดเสียงเราจะได้เพลงมาซ้อมก่อนอยู่แล้วซึ่งถ้าเราตีกับเมโทรนอมได้ก็จะง่ายขึ้นเยอะเลยทีเดียว การตีกลองกับเมโทรนอมตอนสอบวัดระดับ สำหรับเด็กๆหรือนักศึกษาดนตรีที่เรียนถึงระดับหนึ่งแล้วก็อาจจะต้องเจอกับการสอบวัดระดับซึ่งจะมีหัวข้อในการสอบต่างๆ ตามเนื้อหาที่เราเลือกสอบ แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับการสอบวัดระดับการตีกลองนั่นก็คือการตีกลองกับเมโทรนอมในข้อสอบต่างๆ เช่น ถ้าการสอบเรื่อง Drum Fills ข้อสอบอาจจะมีโน้ตมาให้พร้อมทั้งเขียนอัตราความเร็วมาด้วยเช่น 60 B.P.M. มาด้วยเพราะฉะนั้นเราก็ต้องตีข้อสอบพร้อมกับเมโทรนอมไปด้วย ซึ่งถ้าเราตีกลองเมโทรนอมได้ดีอยู่แล้วก็จะได้มีเวลาไปโฟกัสโน้ตที่ยากๆ แต่ถ้าเราตีกลองกับเมโทรนอมยังไม่ดีเราก็ต้องโฟกัสทั้งโน้ตและเมโทรนอมไปพร้อมๆกันซึ่งก็จะทำให้ยากขึ้นอีก เพราะฉะนั้นเวลาก่อนสอบเราควรซ้อมเมโทรนอมให้คล่องๆเพื่อจะได้มีเวลาไปโฟกัสเรื่องโน้ตที่ยากๆแทน เป็นอย่างไรบ้างครับพอจะเห็นข้อดีของการฝึกเมโทรนอมแล้วใช่ไหมครับ แต่ก็ต้องบอกเลยว่าการฝึกตีกลองกับเมโทรนอมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งถ้าเราฝึกซ้อมจนคล่องแล้วรับรองว่าคุ้มมากๆเพราะถ้าเราต้องตีกลองเมโทรนอมจะอยู่กับเราไปตลอดเป็นเพื่อนแท้ของเราเลยครับ ซึ่งถ้าใครฝึกจนคล่องแล้วผมบอกเลยว่าเวลาไม่มีเมโทรนอมแล้วเราจะนึกถึงมันเลยทีเดียว หวังว่าบทความของผมคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกท่านที่เป็นมือกลองหันมาใส่ใจเรื่องการตีกลองกับเมโทรนอมกันมากขึ้นนะครับ ฝึกเท่านั้นที่พาทุกท่านไปถึงฝัน สุดท้ายนี้ผมขอบพระคุณทุกท่านที่อ่านบทความของผม และฝากติดตามบทความสอนตีกลองของผมในบทความอื่นๆด้วยนะครับ หรือใครอยากให้ผมเขียนเรื่องอะไรก็สามารถส่งหัวข้อมาให้ผมในช่องทางการติดต่อของผมทุกช่องทางได้เลยนะครับ ผมยินดีที่จะแบ่งปันความรู้การตีกลองให้กับทุกท่านครับ ^_^ สอบถามรายละเอียดการเรียนตีกลองชุด Ongartdrums School https://www.ongartdrums.com/contact.html คอร์สเรียนตีกลอง Ongartdrums https://www.ongartdrums.com/drumlessons.html
0 Comments
|