ต้องตีกลองดังระดับไหนดีที่สุด? คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมพบเจอบ่อยมากในผู้ปกครองของนักเรียนผม เพราะนักเรียนผมส่วนใหญ่มีทั้งตีดังแบบแรงเหลือๆ กับ ตีเบาจนผู้ปกครองสงสัย นับวันผมเริ่มเจอคำถามนี้อยู่เรื่อยๆ ผมจึงอยากมานำเสนอให้ทุกท่าน ในมุมมองของผมกันครับ คำถามโลกแตก ต้องตีกลองดังในระดับไหนถึงจะดีที่สุด? ผมคิดว่าคำถามนี้เป็นปัญหาโลกแตกมากๆ ไม่ใช่แค่นักเรียนของผม แม้แต่ในระดับมืออาชีพเองก็ต้องสงสัยกันอยู่ครับ ผมจึงคิดว่าปัญหานี้ผมขอตอบด้วยประสบการณ์ของผม จากการเป็นมือกลอง และในถานะ Sound Engineer ที่ Mixing กลองสดจากธุรกิจเครื่องเสียงสำหรับและเครื่องดนตรีสำหรับเช่าของผมเอง https://www.earthbandbkk.com/sound-system.html และได้ Mix ให้กับมือกลองเก่งหลายท่าน ทำความเข้าใจกันก่อน ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่าเรื่องนี้ผมคิดว่าไม่มีคำตอบที่ถูกและผิด โดยประกอบด้วย ความชอบ รสนิยม เทคนิค สถานการณ์ในแต่ละเวที และขนาดของสถานที่ การตีกลองนั้นอย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่าเวลาตีกลองจะต้องใช้อวัยวะทั้ง 4 ส่วนคือ มือซ้าย มือขวา เท้าซ้าย และเท้าขวา บางคนอาจะใช้ปากในการร้องด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องควบคุมเสียงที่ออกมาจากอวัยวะทั้ง 4 ส่วนดังกล่าว สิ่งสำคัญคือต้องควบคุมให้เสียงออกมาโดยรวมให้กลมกล่อม หรือเรียกว่า Sound Balance ตามรสนิยมของแต่ละคน โดยส่วนตัวแล้วตอนแรกเริ่มผมจะให้นักเรียนฝึกการควบคุมอวัยวะทั้ง 4 ส่วน ให้มีเสียงออกมาใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลของเสียง แล้วค่อยๆปรับตามความชอบโดยการใช้การฟังของนักเรียนแต่ละคน จะรู้ได้อย่างไรละว่าเราจะชอบแบบไหน? นั้นก็มาจากการหาต้นแบบซึ่งแน่นอนว่าถามเป็นผู้เรียนกลองส่วนใหญ่ก็จะได้ต้นแบบมาจากสิ่งใกล้ตัวนั่นคืออาจารย์ผู้สอนของเรานั่นเอง แต่ผมจะบอกนักเรียนของผมอยู่เสมอว่าให้ลองฟังมือกลองที่เรารู้จัก หรือฟังเพลงของวงดนตรีที่เราชื่นชอบและพยามยามฟัง Sound Balance ของมือกลองแต่ละท่านว่าแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว (Character) ที่แต่ต่างกันอย่างไร ถ้าเราฟังไปในระดับหนึ่งแค่เราได้ยินเสียงกลองเราจะสามารถแยกออกได้เลยทันทีว่าเสียงก็ที่เราได้ยินนั้นมาจากใคร เมื่อเราเจอคนที่เราชอบแล้วก็พยายามไปดูศิลปินท่านนั้นเล่นสด เพราะบางทีเสียงที่เราได้ยินในเพลงที่เราฟังในปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะฟังผ่าน Yotube, Spotify และแอพฟังเพลงอื่นๆ อาจจะมาจากการปรับแต่งเสียงใน Studio ทำให้บางทีอาจจะทำให้มีการปรับเปลี่ยนคาแรคเตอร์ของเสียงบางอย่างก็เป็นได้ แต่ถ้าเราได้มีโอกาสไปฟังศิลปินท่านนั้นเล่นสด เสียงที่ออกมาจะเป็นเสียงที่ศิลปินท่านนั้นเล่นจริงๆอยู่ ณ ขณะนั้นเลยจึงทำให้เสียงเวลาเล่นสดจึงเป็นเสียงที่ธรรมชาติที่สุด Dynamic คืออะไรสำคัญอย่างไร? อีกอย่างที่ผมจะบอกก็คือเรื่องของ Dynamic หมายถึง เสียงเบาเสียงดัง เสียงที่มีความเข้มเสียงมากก็จะยิ่งดังมาก (ณัชชา พันธุ์เจริญ, พจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์, หน้า 113) หรืออธิบายแบบเข้าใจง่ายๆคือ การตีกลองเราครวจะต้องมีช่วงที่เบาและช่วงที่ดัง เพราะมือกลองที่ใช้ไดนามิกเก่งๆจะสังเกตว่าจะมีเสน่ห์ของเสียงมากๆ เวลานั่งฟังจะทำให้รู้สึกเหมือนโดนสะกด จะรู้สึกว่าเพราะมาก ได้อารมณ์ที่หลากหลายเวลาที่มีการขึ้น-ลงของเสียง ดังนั้นมือกลองทุกคนครวจะต้องฝึกการใช้ไดนามิกที่หลากหลาย ดังในช่วงที่ครวดัง และเบาในช่วงที่ครวเบา เช่นท่อนร้อง (Verse) อาจจะตีเบาลงหน่อยเพื่อให้เสียงร้องเด่นขึ้น และท่อน Hook อาจจะตีดังขึ้นหน่อยเพื่อเป็นการดันอารมณ์ในท่อนนี้ จะทำให้เพลงมีการเคลื่อนไหวของเสียง (Movement) และน่าติดตามมากขึ้น ข้อสังเกต อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงนั้นคือ “เพื่อนที่เล่นในวง” มือกลองที่ดีครวจะต้องสังเกตระดับเสียงของเพื่อนในวงว่าแต่ละคนเล่นดังเท่าไหร่ เพื่อที่จะต้องเล่นให้เสียงกลมกลืนกับเพื่อนร่วมวง ไม่ใช่ว่าเพื่อนรวมวงเล่นระดับความดังอยู่ที่ประมาณ 5 แต่มือกลองตีประมาณ 10 ก็แน่นอนว่าวงนั้นคงได้ยินเสียงกลองแทนที่จะได้ยินเสียงนักร้องและเสียงเครื่องอื่นๆนั่นเอง มือกลองที่สังเกตระดับเสียงของเพื่อนร่วมวงตลอดเวลาคือมือกลองที่ทำให้วงดูดีขึ้น เปรียบเสมือนมือกลองคือ Conductor (ผู้ควบคุมวง) ที่สามารถควบคุมเสียงรวมๆภายในวงว่าท่อนไหนดัง ท่อนไหนเบา เพราะธรรมชาติของวงดนตรีทุกคนอยากได้ยินเสียงของตัวเองที่สุด แต่เสียงกลองเป็นเสียงที่ชัดเจนที่สุด ดังนั้นเวลาเสียงกลองดังทุกคนก็จะเพิ่มเสียงของตัวเองขึ้นมา ถ้าเบาทุกคนก็จะเบาเสียงของตัวเองเบาลงมา (แต่ถ้าใครไม่เบาตามก็เอาไม้กลองเขี้ยวใส่หัวสัก 1 ที ล้อเล่นนะครับ) ถ้าทุกคนในวงเข้าใจตามนี้วงดนตรีก็จะมีไดนามิกที่ดีทำให้น่าติดตามและมีเสน่ห์เวลาเล่นสดครับ "วงกลม" วงลูกศิษย์ครูเอิร์ธแสดงที่งาน Drums Party by Kru.Earth สถานที่และผู้ชมคือสิ่งสำคัญ สิ่งสุดท้ายคือในเรื่องของ “สถานที่และผู้ชม" เวลาผมไปแสดงสดตามสถานที่ต่างๆ สิ่งที่ผมคำนึงคือผมจะถึงสถานที่แล้วดูว่าสถานที่ใหญ่ไหม เป็นแบบอินดอร์หรือเอ้าดอร์ มีผู้ชมเยอะไหม กล่าวคือถ้ามาไปเล่นในคลับต่างๆ ที่ไม่ใหญ่มากและมีผู้ชมจำนวนหนึ่ง ผมก็จะพยายามควบคุมการเล่นของผมในครั้งนั้นให้มีความดังที่ไม่ดังเกินไป ผู้ชมสามารถรับฟังได้อย่างสบายหู สามารถอยู่ฟังได้จนจบการแสดง หลายท่านเคยไหมครับที่ไปตามคลับต่างๆแล้วรู้สึกว่าฟังได้ 1 เพลงแล้วอยากจะเดินออกจากร้านเพราะเสียงดังจนเกินจะรับไหว แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ผมไปเล่นใน Festival ต่างๆที่ผู้ชมเยอะ และที่เป็นเวทีกลางแจ้ง ผมก็จะตีดังขึ้นมาหน่อย ให้เสียงที่เราตีกลองออกไปส่งหาไมค์และออกไปยังลำโพงคอนเสิร์ตได้เต็มที่ ทำให้ผู้ปรับเสียงหรือ Sound Engineer สามารถปรับเสียงได้โดยง่าย แต่ก็อย่าเข้าใจผิดว่าถ้าเวทีกลางแจ้งแล้วเราจะหวดกลองแรงสุดชีวิต เพราะสิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือเรื่องของแรงกายของเราในการเล่นจนจบโชว์ ไม่ใช่ว่าเพลงแรก เพลงสอง หวดกลองสุดชีวิต พอเพลงที่ 3 เป็นต้นไปเสียงกลองเริ่มเบาลงไปเรื่อยๆจนซาวน์เอ็นจิเนียงงเลยทีเดียว เทศกาลดนตรีแจ๊สระดับโลกในงาน Taichung Jazz Festival 2016 ที่ประเทศไตหวัน เมืองไทชุง กับวง Project R คำตอบ
เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับคำถามที่ว่า “ต้องตีกลองดังระดับไหนดีที่สุด?” คำตอบได้อยู่ในสิ่งที่ผมเขียนข้างต้น หวังว่าทุกท่านคงได้ไอเดียในการตีกลองเพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเอง ไม่มีสิ่งที่ถูกหรือผิด แต่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบของแต่ละคน แต่ตอนเริ่มผมก็ได้แนะนำไปแล้วว่าครวโฟกัสไปที่เรื่องของ Sound Balance ให้ดีเสียงก่อนแล้วค่อยๆปรับตามเสียงที่เราชอบ สำหรับใครที่คิดว่าบทความนี้เป็นบทความที่ได้ประโยชน์ได้ความรู้ ฝากกด Like กด Share เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผมด้วยนะครับ ถ้าใครมีคำถามปัญหาสังสัยใดๆสามารถพิมพ์เข้ามาถามเรื่องพูดคุยกันได้ตามที่อยู่ที่ผมให้นะครับ หรือถ้าใครอยากเรียนตีกลองกับครูเอิร์ธก็สามารถสมัครเข้ามาได้ตามที่อยู่ที่ผมให้เช่นกันนะครับ ผมตื่นเต้นที่จะได้รู้จักและสอนทุกท่านนะครับ ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามครับผม แล้วพบกันในบทความหน้าครับผม ติดต่อ สมัครเรียน Ongartdrums School by Kru.Earth https://www.ongartdrums.com/contact.html บรรณานุกรม ณัชชา ฟันธุ์เจริญ. พจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์. พิมพ์ครั้งที่3. กรุงเทพมหานคร: เกศกะรัต, 2552.
1 Comment
|